กำเนิดกองทัพเรือ

Release Date : 19-12-2021 19:18:36
กำเนิดกองทัพเรือ

 

กำเนิดกองทัพเรือ

กองทัพเรือ มีกำเนิดควบคู่มากับ การสร้างอาณาจักรไทย นับตั้งแต่ กรุงสุโขทัย เป็นราชธานี กองทัพไทย ในสมัยนั้น  มีเพียง ทหารเหล่าเดียว มิได้แบ่งแยกออกเป็น กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างเช่น ในสมัยปัจจุบัน หากยาตราทัพ ไปทางบก ก็เรียกว่า "ทัพบก" หากยาตราทัพ ไปทางเรือ ก็เรียกว่า "ทัพเรือ"   การจัดระเบียบ การปกครอง บังคับบัญชา กองทัพไทย ในยามปกติ สมัยนั้น ยังไม่มี แบบแผน ที่แน่นอน ในยามศึกสงคราม ได้ใช้ทหาร "ทัพบก" และ"ทัพเรือ" รวมๆ กันไป
                 ในการ ยาตราทัพ เพื่อทำศึกสงคราม ภายในอาณาจักร หรือ นอกอาณาจักร ก็มีความจำเป็น ต้องใช้เรือ เป็นพาหนะในการ ลำเลียงทหาร เครื่องศาสตราวุธเรือ นอกจาก จะสามารถ ลำเลียง เสบียงอาหาร ได้คราวละมากๆ แล้ว ยังสามารถ ลำเลียง อาวุธหนักๆ เช่น ปืนใหญ่ ไปได้สะดวก และ รวดเร็ว กว่าทางบกด้วย จึงนิยม ยกทัพ ไปทางเรือ จนสุดทางน้ำ แล้วจึงยกทัพต่อ ไปบนทางบก
                เรือรบ ที่เป็นพาหนะ ของกองทัพไทย สมัยโบราณ มี ๒ ประเภท ด้วยกันคือ เรือรบในแม่น้ำ และ เรือรบในทะเล เมื่อสันนิษฐาน จากลักษณะ ที่ตั้ง ของราชธานี ซึ่งมี แม่น้ำล้อมรอบ และ มีแม่น้ำลำคลอง เป็นเส้นทาง ในการคมนาคม ตลอดจน ชีวิตความเป็นอยู่ ที่ต้องใช้น้ำ ในการบริโภค และ การเกษตรกรรม แล้ว เรือรบ ในแม่น้ำ คงมีมาก่อน เรือรบในทะเล เพราะสงคราม ของไทย ในระยะแรกๆ จะเป็น การทำสงคราม ในพื้นที่ ใกล้เคียงกับ ประเทศไทย กล่าวคือ เป็นการ ทำสงคราม กับพม่า เป็นส่วนมาก

เรือรบในแม่น้ำ

ในสมัย กรุงศรีอยุธยา ภายหลัง จากสมเด็จ พระไชยราชาธิราช (พ.ศ. ๒๐๗๖ - ๒๐๘๙) ทรงยกกองทัพ ไปตีเมืองเชียงกราน   ซึ่งเป็น เมืองขึ้นของไทย คืนจากพม่า ใน พ.ศ. ๒๐๘๑   ต่อจากนั้น ไทยก็ได้ ทำศึกสงคราม กับพม่า มาโดยตลอด เรือรบในแม่น้ำ ในสมัยนี้ จะมีบทบาท สำคัญ ในการ เป็นพาหนะใช้ทำศึก สงคราม มากกว่า เรือรบ ในทางทะเล เรือรบ ในแม่น้ำ เริ่มต้น มาจาก เรือพาย เรือแจว ก่อน เท่าที่พบหลักฐาน ไทยได้ใช้ เรือรบ ประเภท เรือแซ เป็น เรือรบ ในแม่น้ำ เพื่อใช้ ในการ ลำเลียงทหาร และ เสบียงอาหาร มาช้านาน โดยใช้พาย ๒๐ พาย เป็นกำลังขับเคลื่อน ให้เรือแล่นไป

ภาพวาดพิธีพยุหยาตราทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วาดโดยชาวฝรั่งเศส


                     ในสมัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๐๙๑ - พ.ศ. ๒๑๑๑) ได้ทำศึกสงคราม กับ พม่า หลายครั้ง พระองค์ ทรงคิดดัดแปลง เรือแซ เป็น เรือไชย เพื่อใช้ในการ ลำเลียงทหาร ได้มากขึ้น เนื่องจาก เรือแซ ที่ใช้เป็น พาหนะ มาแต่เดิม ลำเลียงทหาร และ เสบียงอาหาร ได้น้อย จึงไม่เหมาะ ที่จะใช้ เป็นพาหนะ ในการ ทำสงคราม ในครั้งนั้น จึงได้มี การเปลี่ยน หน้าที่ ของเรือแซ โดยใช้ เป็นพาหนะในการลำเลียง เสบียงอาหาร และ เครื่องศาสตราวุธ สำหรับ เรือไชย ที่ทรงดัดแปลงใหม่นั้น เป็น เรือ ที่มี ลักษณะ ลำเรือยาว ใช้ฝีพาย ประมาณ ๖๐ - ๗๐ คน แล่นได้รวดเร็ว กว่าเรือแซ ปรากฏว่า ในคราว ที่พม่า ตั้งค่าย ล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จ พระมหาจักรพรรดิ ได้นำปืนใหญ่ ไปติดตั้ง ที่เรือไชย ออกแล่นยิง ค่ายพม่า จนพม่า ต้องถอยทัพ กลับไป
                     ในเวลาเดียวกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงคิดสร้าง เรือรบ รูปศีรษะสัตว์ เพื่อใช้ ทำสงคราม ขึ้นอีกประเภทหนึ่ง มีลักษณะ เช่นเดียวกับ เรือไชย โดยทำหัวเรือ ให้กว้างขึ้น เพื่อให้สามารถ ติดตั้งปืนใหญ่ ที่หัวเรือได้ ต่อมา ยังได้มี การคิดสร้าง เรือรบในแม่น้ำ ขึ้นอีก ประเภทหนึ่ง คือ เรือกราบ แต่ไม่ปรากฏ แน่ชัดว่า เป็น พระมหากษัตริย์ องค์ใด สร้างขึ้น เรือกราบ ที่คิดสร้าง ขึ้นใหม่นี้ มีลักษณะ เช่นเดียวกับ เรือไชย แต่แล่น ได้รวดเร็ว กว่าเรือไชย

     

                          เรือฉลอมท้ายญวน

      

                                               เรือมาด

 

เรือรบในทะเล

สำหรับ เรือรบ ในทะเล ในสมัยแรก ยังไม่มี บทบาท สำคัญ ในการ เป็นพาหนะ เท่าเรือรบ ในแม่น้ำ เนื่องจาก ลักษณะ ที่ตั้ง ตัวราชธานี อยู่ไกล จาก ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ความจำเป็น ในการ ใช้เรือ จึงมีน้อยกว่า ในยามปกติ ก็นำเอาเรือ ที่ใช้ ในทะเล มาเป็น พาหนะ ในการ บรรทุก สินค้า ออกไป ค้าขาย ยังหัวเมือง ชายทะเล ต่างๆ และประเทศ ข้างเคียง ครั้นเมื่อ บ้านเมือง มีศึก สงคราม ก็นำเรือ เหล่านี้ มาติดอาวุธปืนใหญ่ เพื่อใช้ ทำสงคราม แต่ครั้งโบราณ ในสมัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และ กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยได้เริ่ม ใช้เรือรบ ในทะเล ในการ ทำศึก สงคราม บ้างแล้ว เช่น ในสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือ ไปตี เมืองทวาย เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๕ และ ในสมัย พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือ ไปตี เมืองบันทายมาศ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ เป็นต้น ส่วนเรือรบ ในทะเล จะมีเรือ ประเภทใดบ้าง ยังไม่อาจ ทราบได้แน่ชัด แต่สันนิษฐาน ว่า คงจะเป็น เรือใบ หลายประเภท ด้วยกัน ถ้าเป็น เรือขนาดใหญ่ ส่วนมาก จะเป็น เรือสำเภา แบบจีน   เรือกำปั่นแปลง แต่ถ้าเป็น เรือขนาดย่อม ลงมา จะเป็น เรือสำปั้นแปลง เรือแบบญวน เรือฉลอม เรือเป็ดทะเล และ เรือแบบแขก เป็นต้น

ภาพวาดเรือวิทยาคมสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙ - พ.ศ.๒๓๘๐ (รัชกาลที่ ๓)เคยไปราชการรบทัพกับญวน เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราชธานี ตั้งอยู่ ใกล้ปากแม่น้ำ เจ้าพระยา มากขึ้น จึงทำให้ มีการติดต่อ ค้าขาย กับต่างชาติ โดยเฉพาะ ประเทศในยุโรป เรือรบ ในทะเล ของไทย แต่เดิม ซึ่งนิยม สร้างเรือ แบบสำเภาจีน เริ่มเปลี่ยนแปลง หันมา นิยมสร้าง เรือกำปั่นใบ แบบยุโรป มากขึ้น เนื่องจาก เรือกำปั่น ใบแบบยุโรป สามารถสร้าง ให้มี ขนาดใหญ่ มีใบรับลม มากกว่า เรือสำเภาจีน ทำให้ สามารถ บังคับเรือ ได้ง่าย และ แล่นได้เร็วกว่า พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เกรงว่า ต่อไป อนุชน รุ่นหลัง จะไม่รู้จัก เรือสำเภาจีน ที่เคย มีความสำคัญ มาในอดีต จึงได้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง เรือสำเภาจีน ไว้ที่ วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร
               เรือรบ ในทะเล ได้พัฒนา จากเรือ สำเภาจีน มาใช้ เรือกำปั่น แบบใช้ใบแล้ว ต่อมา เมื่อได้มี การประดิษฐ์ เครื่องจักรไอน้ำขึ้น ในยุโรป และ ได้เริ่ม นำมา ใช้กับ เรือ เรือรบ ในทะเล ของไทย ก็ได้เปลี่ยน การขับเคลื่อนเรือ จากใช้ใบ มาเป็น เรือแบบ เรือกลไฟ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยเริ่ม จากเรือ ใช้จักร ข้างก่อน แล้วต่อมา จึงเปลี่ยน มาใช้ จักรท้าย ได้พัฒนา การขับเคลื่อน   ของเรือ จากเครื่องจักร ไอน้ำ มาเป็น เครื่องยนต์ดีเซล จากเครื่องยนต์ดีเซล ก็พัฒนา มาใช้ เครื่องยนต์ แบบเทอร์ไบน์ ผสมแก๊ส และไอน้ำ มาถึง ปัจจุบัน ส่วนตัวเรือ แต่ก่อน ใช้ไม้สร้าง ก็เปลี่ยน มาสร้าง ด้วยเหล็ก เช่นกัน ในสมัย พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทหารเรือ มีอยู่ ๒ แห่งคือ ทหารเรือ วังหน้า ขึ้นอยู่ ในความ ปกครอง บังคับบัญชา ของ พระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้า เจ้าอยู่หัว แห่งหนึ่ง กับ ทหารมะรีน สำหรับ เรือรบ ขึ้นอยู่ ในบังคับบัญชา ของ เจ้าพระยา บรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม อีกแห่งหนึ่ง
                         ในสมัยต้น ของรัชกาลที่ ๕ การปกครอง ประเทศ ยังเป็น ระบบ จตุสดมภ์ อยู่ มีกรมพระกลาโหม ว่าการ ฝ่ายทหาร ในขณะนั้น กิจการ ฝ่ายทหารเรือ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนหนึ่ง ขึ้นในบังคับบัญชา ของสมุหพระกลาโหม เรียกว่า กรมอรสุมพล อีกส่วนหนึ่งขึ้น ในบังคับบัญชา ของ กรมพระราชวัง บวรสถานมงคล เรียกว่า ทหารเรือ ฝ่ายพระราชวังบวร หรือ ทหารเรือวังหน้า กรมอรสุมพล มีหน่วย ขึ้นในสังกัด คือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสามอญ และกรมอาสาจาม ทหารเรือวังหน้า มีหน่วยขึ้น ในสังกัด คือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสาจาม และ กองทะเล บางทีเรียกว่า กองกะลาสี ใน พ.ศ. ๒๔๑๕ ภายหลัง จากที่ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยูหัว ได้เสด็จ กลับจาก การเสด็จ ประพาส อินเดีย ได้ทรง ปรับปรุง หน่วยทหาร ในกองทัพ ขึ้นใหม่ โดยแบ่ง ออกเป็น ๙ หน่วย ดังนี้

  1. กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
  2. กรมทหารรักษาพระองค์
  3. กรมทหารล้อมวัง
  4. กรมทหารหน้า
  5. กรมทหารปืนใหญ่
  6. กรมทหารช่าง
  7. กรมทหารฝีพาย
  8. กรมทหารเรือพระที่นั่ง (เวสาตรี)
  9. กรมอรสุมพล

กรมทหารเรือ

ใน พ.ศ.๒๔๒๘ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ) เสด็จทิวงคต ทหารฝ่ายพระราชวังบวรทั้งทหารบก และทหารเรือ ได้ถูกยุบเลิกไป จึงทำให้ ทหารเรือ ในขณะนั้น มี ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ กรมเรือ พระที่นั่ง ขึ้นตรงกับ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ส่วนกรมอรสุมพล ขึ้นตรงกับ สมุหพระกลาโหม
                      ต่อมา เมื่อ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้ทรง สถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ดำรงตำแหน่ง เป็น ผู้บังคับบัญชา ทั่วไป ในกรมทหาร (Commander in chief) ตาม โบราณ ราชประเพณี พร้อมกับ ประกาศ จัดการทหาร เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๐ โดยจัดตั้ง กรมยุทธนาธิการ ขึ้นใน ประกาศนี้ ให้รวม บรรดา กองทหารบก กองทหารเรือ ทั้งหมด ขึ้นอยู่ ในบังคับบัญชา ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช   แต่ในระหว่าง ที่ยังทรง พระเยาว์ ให้มี ผู้ทำการแทน ผู้บังคับบัญชา ทั่วไป โดยได้ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็น ผู้แทน บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหาร และ ให้รั้งตำแหน่ง เจ้าพนักงานใหญ่ ผู้จัดการ ในกรมทหาร สำหรับ ทหารเรือ ทรงตั้ง นายพลเรือโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็น เจ้าพนักงานใหญ่ ผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือ (Secretary to the Navy) มีหน้าที่ ดังนี้
 ๑. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายข้อบังคับทหารรเรือ
๒. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับจำนวนผู้คนในทหารเรือ
๓. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกหัดทหารเรือ
๔. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับเรือรบหลวง
๕. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับพาหนะทางเรือ


                   ต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๓๓ ได้มีการ ยกเลิก ประกาศ จัดการทหาร ที่จัดตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ นั้นเสีย และได้มี การตรา พระราชบัญญัติ จัดการ กรมยุทธนาธิการ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๓ ขึ้นแทน พระราชบัญญัติ จัดการ กรมยุทธนาธิการ ฉบับใหม่นี้ ให้เรียก กรมยุทธนาธิการ เสียใหม่ว่า กระทรวงยุทธนาธิการ (Ministry of War and Marine) มีหน้าที่ บังคับบัญชา ราชการทหาร และพลเรือน ที่เกี่ยวข้อง แก่การ ทหารบก ทหารเรือ ตามพระราชบัญญัติใหม่นี้ ให้ยกเลิก ตำแหน่ง ผู้บังคับบัญชาการทั่วไป ในกรมทหารเรือ และตั้ง ตำแหน่งใหม่ เรียกว่า จอมพล (จอมทัพ) (Commander in chief) สำหรับ บังคับบัญชาราชการ ในกรมทหารบก กรมทหารเรือ โดยสิทธิ์ขาด โดย พระราชประเพณี พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว จะได้ ดำรง ตำแหน่ง ที่จอมพล นี้ สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีตำแหน่ง ทรงปฏิบัติ ในหน้าที่ จอมพล ด้วยเหมือนกัน กรมที่บังคับบัญชาทหาร แบ่งออก เป็น ๒ กรม คือ กรมทหารบก กรมทหารเรือ ในครั้งนี้ ได้ทรง พระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเสนาบดี ว่าการ กระทรวง ยุทธนาธิการ พระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็น ผู้บัญชาการทหารบก นายพลโท พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์) เป็น ผู้บัญชาการทหารเรือ (Chief Staff of the Navy)   สำหรับ กรมทหารเรือ แบ่งส่วนราชการ ออกเป็น
    
๑. กรมกลาง
๒. กองบัญชีเงิน
๓. กรมคลังพัสดุทหารเรือ
๔. กองเร่งชำระ     
๕. กรมคุกทหารเรือ
๖. กรมอู่
๗. กรมช่างกล
๘. โรงพยาบาลทหารเรือ
๙. ทหารนาวิกโยธิน
๑๐. เรือรบหลวงและเรือพระที่นั่งประจำการ

กองทัพเรือ

ใน พ.ศ.๒๔๓๕ ได้มีการจัดระเบียบ การปกครอง แผ่นดินใหม่ และ ยกเลิก การปกครอง แบบจตุสดมภ์ กำหนดให้ มีกระทรวง ในราชการ ทั้งหมด ๑๒ กระทรวง กระทรวง มหาดไทย มีหน้าที่ ปกครอง บรรดา หัวเมือง ต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร กระทรวงกลาโหม ไม่ต้อง เกี่ยวกับ การปกครอง ทางหัวเมือง อย่างแต่ก่อน คงมี หน้าที่ เกี่ยวด้วย ราชการทหาร อย่างเดียว ใน พ.ศ.๒๔๓๕ นี้ จึงได้ โอนกรมทหารเรือ ซึ่งเดิม ขึ้นอยู่กับ กระทรวง ยุทธนาธิการ มาขึ้นกับ กระทรวงกลาโหม   กรมทหารเรือ ได้เจริญ ก้าวหน้า มาตาม ลำดับ จนถึง พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน ฐานะ กรมทหารเรือ เป็น กระทรวงทหารเรือ ๔ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม และ ในวันเดียว กันนั้น ก็ได้ ประกาศ แต่งตั้ง เสนาบดี กระทรวงทหารเรือ เนื่องจาก การป้องกัน ประเทศ เป็นงานใหญ่ ที่ทหารบก และ ทหารเรือ จำเป็น ต้องร่วมกัน คิดอ่าน จัดการ ตามหน้าที่ ที่ประชุม เสนาบดี จึงเห็น สมควร จัดตั้ง สภาป้องกัน พระราชอาณาจักร ขึ้นเพื่อ ทำหน้าที่ ประสานงาน ระหว่าง ทหารบก และ ทหารเรือ ให้ดำเนิน ไปได้ โดย สอดคล้อง ร่วมกัน อย่างพร้อมเพรียง สภานี้ มีองค์พระประมุข เป็นประธาน และ โปรดเกล้าฯ ให้เสนาธิการ ทหารบก เป็นเลขานุการ ประจำ เสนาบดี กระทรวงกลาโหม เสนาบดี กระทรวงทหารเรือ พร้อมทั้ง จอมพล ในและนอก ประจำการ เป็นสมาชิกสภา แห่งนี้ทุกนาย นับตั้งแต่ มีการ เลื่อนฐานะ กรมทหารเรือ ขึ้นเป็น กระทรวงทหารเรือ ก็ได้ มีการปรับปรุง การจัด ระเบียบ ราชการ ทหารเรือ อยู่เสมอ แต่มิได้ เป็นการ เปลี่ยนแปลง ไปจาก หลักการเดิม เพียงแต่ว่า ส่วนราชการ ต่างๆ มีความจำเป็น ต้องขยาย กิจการ ให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้น เมื่อราชการ บางส่วน   มีกิจการ เพิ่มขึ้น ก็เลื่อน ฐานะ ขึ้นเป็น กรมหรือกอง ตามความ สำคัญ ในสมัย พระบาท สมเด็จ พระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาวะ ทางเศรษฐกิจ ทั่วโลก ตกต่ำ เป็นผล ทำให้ ประเทศไทย ได้รับ ผลกระทบ กระเทือน ดังกล่าว นี้ด้วย ทำให้ ฐานะ ทางการเงิน และ เศรษฐกิจ ของประเทศ อยู่ในภาวะ ตกต่ำ จำเป็น ต้องพิจารณา ตัดทอน รายจ่าย ของประเทศ ให้น้อยลง ให้สมดุล กับรายได้ เป็นผล ทำให้ มีการ ปรับปรุง การจัด ระเบียบ ราชการ เสียใหม่ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ โดย ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้รวม กระทรวงทหารเรือ กับ กระทรวงทหารบก เป็น กระทรวง เดียวกันเสีย กระทรวง ที่บังคับบัญชา ทั้งทหารบก และทหารเรือ ร่วมกันนี้ เรียกว่า กระทรวง กลาโหม เหมือนอย่าง แต่ครั้งก่อน
                      ใน พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ประเทศใหม่ ทางด้านกองทัพเรือ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกัน โดยกระทรวงทหารเรือได้ลดฐานะ เป็นกรมทหารเรือ ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ของการเปลี่ยนแปลง ระบอบการปกครองประเทศนี้ ได้จัดให้มีคณะกรรมการกลางกลาโหมขึ้น   นอกจากนั้นส่วนราชการของทหารเรือ บางส่วนซึ่งได้เอาไปรวมกับฝ่ายทหารบก ก็กลับมาสังกัดอยู่ใน กรมทหารเรือตามเดิมอีก กรมต่างๆ ของทหารเรือลดฐานะมาเป็นกองทั้งหมด เว้นแต่กรมเสนาธิการทหารเรือ
                จนกระทั่งในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๖ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อ กรมทหารเรือ เป็น  กองทัพเรือ และบริเวณพระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน ให้แก่กองทัพเรือ เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๙ และได้พระราชทาน ลายพระราชหัตถเลขา ไว้ในสมุดเยี่ยมว่า
    " วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบไปในภายน่า" 
กองทัพเรือ จึงได้ถือเอาวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน เป็นวันกองทัพเรือ