พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง

Release Date : 20-12-2021 09:52:00
พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง

พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง

 

พิพิธภัณฑ์ ร.ล.แม่กลอง
 
ร.ล.แม่กลอง เป็นเรือรบที่ประจำการนานที่สุดในกองทัพเรือ และเป็นเรือพี่เรือน้องคู่กับ ร.ล.ท่าจีน โดยมีประวัติการใช้ราชการยาวนานเป็นเวลาถึง ๒๐ ปี จนกระทั่งกระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า ร.ล.แม่กลองมีสภาพทรุดโทรมมาก การซ่อมทำเพื่อใช้ราชการต่อไปไม่มีความคุ้มค่า จึงให้ปลด ร.ล.แม่กลอง ออกจากระวางประจำการตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙ เพื่ออนุรักษ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ ร.ล.แม่กลองต่อไป
 
 
 
 
โครงการอนุรักษ์ ร.ล.แม่กลอง
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า กองทัพเรือควรจะอนุรักษ์เรือรบเก่าไว้ แล้วจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางทหารเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชน ดังนั้นในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ กองทัพเรือจึงได้จัดโครงการที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายจำนวน ๗ โครงการ โดยโครงการอนุรักษ์ ร.ล.แม่กลอง เป็นหนึ่งในเจ็ดโครงการที่กองทัพเรือจะน้อมเกล้าฯ ถวายด้วย สำหรับการอนุรักษ์เรือรบไทย กองทัพเรือได้เคยมีมาบ้างแล้วในอดีต แต่เป็นการเก็บรักษาอุปกรณ์สำคัญบางส่วนเท่านั้น เช่น "ร.ล.ธนบุรี" ที่โรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ และเรือดำน้ำ ชุด "ร.ล.วิรุณ" ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งยังไม่อยู่ในลักษณะพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น กองทัพเรือจึงได้นำ ร.ล.แม่กลอง จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เรือรบขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรือ และแสดงกิจกรรมเกี่ยวกับกองทัพเรือในโอกาสต่างๆ โดยกองทัพเรือได้นำ ร.ล.แม่กลองมาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ณ บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า กิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจะได้รับประโยชน์ดังนี้
 
๑. สามารถอนุรักษ์เรือรบไทยไว้เป็นประวัติศาสตร์ทางทหาร เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้และระลึกถึง

๒. เป็นประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านพิพิธภัณฑสถาน

๓. เป็นการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์กิจการของกองทัพเรือให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป
 
 
 

พิธีรับเรือ มัจฉานุ และ วิรุณ ที่เมืองโกเบ กันยายน ๒๔๘๐
 
 พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘
กองทัพเรือได้พยายามดำเนินการจัดหาเรือรบไว้ป้องกันประเทศมาเป็นเวลานานประมาณ ๓๐ ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากติดขัดด้วยงบประมาณ มีไม่เพียงพอ จึงทำให้กองทัพเรือมีเรือรบไม่เพียงพอต่อการป้องกันประเทศทางทะเล "โครงการบำรุงกำลังทางเรือ" เพิ่งจะมาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ ๘ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยมี นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ และรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลได้เสนอโครงการจัดหาเรือรบไว้ป้องกันประเทศใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผ่านผู้บัญชาการทหารเรือ (นายนาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ บุญชัย สวาทะสุข) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม) จนถึงคณะรัฐบาล โดยทำเป็น "พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘ " นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในการประชุมสภาครั้งที่ ๖๒/๒๔๗๗ และได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น ประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๘
 
 
กองทัพเรือจึงได้แต่งตั้งกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือขึ้น มีนายนาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ รักษาราชการ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของคณะกรรมการฯ คือ นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้น นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย ได้มีดำริที่จะสร้าง "เรือฝึกหัดนักเรียน" ขึ้นด้วยงบประมาณประจำปีของกองทัพเรืออยู่แล้วทั้งๆ ที่กำลังเสนอพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือต่อรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรด้วยพิจารณาเห็นว่า ร.ล.เจ้าพระยา "มีสภาพเหมาะที่จะเป็นเรือฝึกนักเรียนแต่ไม่เหมาะกับการ อวดธง" เพราะไม่มีอาวุธ ส่วน ร.ล.รัตนโกสินทร์ และ ร.ล.สุโขทัย "มีสภาพเหมาะกับการอวดธง แต่ไม่เหมาะกับการฝึก"
 
 
เรือที่สร้างขึ้นด้วยเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘ และเสริมด้วยงบประมาณประจำปีของกองทัพเรือ คือ
เรือปืนหนัก ๒ ลำ
เรือฝึกหัดนักเรียน ๒ ลำ
เรือตอร์ปิโดใหญ่ ๗ ลำ (ร.ล.ตราด และ ร.ล.ภูเก็ต สร้างด้วยงบประมาณพิเศษก่อนพระราชบัญญัติฯ นี้ )
เรือทุ่นระเบิด ๒ ลำ
เรือตอร์ปิโดเล็ก ๓ ลำ
เรือดำน้ำ ๔ ลำ
เรือลำเลียง ๒ ลำ
เครื่องบินทะเล ๖ เครื่อง และ
อาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ เช่น ปืนใหญ่ ทุ่นระเบิด ฯลฯ
 
 
พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘ ฉบับนี้นับว่าเป็น "ฉบับแรก ในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ และของประเทศไทย" และเป็นฉบับเดียวมาจนตราบเท่าปัจจุบันนี้
 
 
 การสั่งต่อ ร.ล.แม่กลอง
คณะกรรมการฯได้พิจารณารายการของเรือฝึกหัดนักเรียนหรือเรือสลุป ๒ ลำนี้หลายครั้ง และมีมติให้ขอพระราชทานชื่อเรือฝึกหัดนักเรียน ๒ ลำนี้ว่า "ท่าจีน" และ "แม่กลอง" ในที่สุดกองทัพเรือได้ตกลงสั่งต่อเรือฝึกหัดนักเรียนหรือเรือสลุป ๒ ลำ และเรือตอร์ปิโดเล็ก ๓ ลำ จากประเทศญี่ปุ่น โดยว่าจ้างบริษัทมิตซุยบุชซันไกชาเป็นผู้ต่อเรือ แยกการต่อเรือจากอู่ต่อเรือ ๒ อู่ คือ ร.ล.ท่าจีน และ ร.ล.แม่กลอง ต่อที่อู่ต่อเรืออูรางา เมืองโยโกสุกะ ส่วนเรือตอร์ปิโดเล็ก ๓ ลำ ร.ล.คลองใหญ่ ร.ล.ตากใบ และร.ล.กันตัง ต่อที่อู่ต่อเรืออิชิกาวายิมา กรุงโตเกียว
 
กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาสั่งต่อเรือหลวงทั้ง ๕ ลำ เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๔๗๘ และ ได้ส่งนายนาวาเอก พระประกอบกลกิจ เป็นหัวหน้าควบคุมการต่อเรือทั้ง ๕ ลำ และนายนาวาโทหลวงชาญจักรกิจ เป็นผู้ควบคุมการต่อ ร.ล.แม่กลอง ให้เป็นไปตามสัญญาที่กำหนด
 
วัตถุประสงค์ในการต่อเรือสลุป ๒ ลำ
วัตถุประสงค์ในการต่อเรือสลุป ร.ล.ท่าจีน และ ร.ล.แม่กลอง มี ๒ ประการ คือ
๑. ในยามสงคราม ปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศทางทะเลในหน้าที่เรือสลุป สามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๒. ในยามสงบ ปฏิบัติภารกิจเป็นเรือฝึกนักเรียนทหาร และนายทหาร สำหรับฝึกภาคทะเลเป็นระยะทางไกลจนถึงเมืองท่าต่างประเทศ เพื่อให้นักเรียนทหาร นายทหาร และทหารได้รับความรู้ความชำนาญในการเดินเรือ และเป็นการอวดธงไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ ร.ล.ท่าจีน และ ร.ล.แม่กลอง จึงเป็นเรือรบ "มีสภาพเหมาะที่จะเป็นทั้งเรือฝึกนักเรียน และเหมาะกับการอวดธงด้วย"
 
พิธีวางกระดูกงู ร.ล.แม่กลอง
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๗๙ เวลา ๑๐๔๕ ซึ่งเป็นวันเดียวกับทำพิธีปล่อย ร.ล.ท่าจีนลงน้ำ ได้มีพิธีวางกระดูกงู ร.ล.แม่กลอง ณ อู่ต่อเรืออูรางา พระมิตรกรรมรักษา อัครราชทูตที่โตเกียว เป็นผู้ประกอบพิธี ทางกองทัพเรือจึงได้ถือเอาวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๗๙ เป็นวันกำเนิด ร.ล.แม่กลอง